1. ที่ดินพร้อมสร้างบ้าน

ต้องมีที่ดินที่พร้อมจะสร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งต้องผ่านการศึกษามาแล้วว่า อยู่ในพื้นที่ที่สามารถก่อสร้างที่อยู่อาศัยได้ มีไฟฟ้า น้ำประปาผ่าน เพื่อพร้อมในการอยู่อาศัย ตรวจสอบโฉนดที่ดินที่มีอยู่ ว่าเป็นชื่อที่ดินที่ถูกต้องของท่านหรือไม่ โดยสามารถดำเนินเช็คชื่อเจ้าของโฉนดได้ที่กรมที่ดินประจำจังหวัดที่ท่านอาศัยอยู่

2. ต้องถมที่ดินหรือไม่

สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงก่อนการเตรียมตัวสร้างบ้าน คือ ที่ดินที่เรามีต้องถมหรือไม่ ซึ่งหากประเมินแล้วว่า ไม่ต้องถม ก็เริ่มต้นขั้นตอนต่อไปได้เลย แต่ถ้าพิจารณาดูแล้ว ที่ดินของเราค่อนข้างต่ำ เสี่ยงกับภาวะน้ำท่วม ก็ควรต้องถมดิน ซึ่งอาจจะถมสูงกว่าถนนคอนกรีตประมาณ 50 เมตร

3. วางแผนเรื่องงบประมาณ

อีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญของการสร้างบ้าน คือ งบประมาณ จริง ๆ แล้วค่าถมที่ดินก็ควรอยู่ในงบประมาณของเรา แต่หลายคนก็นิยมที่จะซื้อที่ดิน ถมที่ดินไว้ก่อน ยังไม่เริ่มก่อสร้าง ดังนั้น จึงขอวางหัวข้อเรื่องงบประมาณไว้เป็นลำดับที่ 3 โดยการวางแผนงบประมาณในการสร้างบ้าน เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะนอกจากจะได้ทราบงบประมาณทั้งหมดที่คาดว่าจะต้องใช้แล้ว ยังเป็นแนวทางในการวางแผนทางการเงินได้ดีอีกด้วย

โดยสามารถคำนวณเงินสดที่เรามี กับเงินกู้ที่จะใช้ในการสร้างบ้านครั้งนี้ วางแผนให้รอบคอบว่า จะกู้สัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ และลงเงินสดเองกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหลักในการคิดของแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนอยากลงเงินสดเยอะ เพราะไม่ต้องการเสียดอกเบี้ย แต่บางคนมองว่า ถ้ากู้ได้หมด ก็จะกู้ เพื่อนำเงินสดที่มีสำรองไว้ใช้อย่างอื่น

4. ติดต่อผู้ออกแบบ และ บริษัทรับสร้างบ้าน (หรือผู้รับเหมา) และทีมงานที่เกี่ยวข้อง

• เริ่มแรกจากการหาแบบบ้าน บริษัทรับสร้างบ้าน ที่น่าเชื่อถือหลายแห่งจะมีแบบบ้านสำเร็จรูปและแปลนบ้านให้ลูกค้าเลือกหลากหลาย ทั้งแบบบ้านชั้นเดียว แบบบ้าน 2 ชั้น และแบบบ้าน 3 ชั้น หรือถ้าไม่พึงพอใจ เจ้าของที่ดินสามารถจ้างสถาปนิกเขียนแบบบ้านให้ตรงตามความต้องการได้ โดยควรจะคุยรายละเอียด คอนเซ็ปต์ งบประมาณ และระยะเวลา กับสถาปนิกให้ชัดเจน โดยค่าใช้จ่ายในการออกแบบบ้าน จะถูกกำหนดโดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นประเภทการตกแต่งภายในและบ้านพักอาศัย

• บ้านพักอาศัย ถ้างบประมาณก่อสร้างไม่เกิน 10 ล้าน ค่าออกแบบบ้านไม่ควนเกิน 7.5% ของงบประมาณ

• การตกแต่งภายใน ในกรณีงบประมาณก่อสร้างบ้านไม่เกิน 10 ล้าน ค่าตกแต่งภายในบ้านไม่ควนเกิน 10% ของงบประมาณก่อสร้างบ้าน

• ต่อมาควรคัดเลือกบริษัทรับสร้างบ้าน หรือผู้รับเหมารับจ้างสร้างบ้าน ที่มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ มีผลงานการสร้างบ้านที่มีคุณภาพ โดยทำการติดต่อ พูดคุย จนได้บริษัทรับสร้างบ้านตรงตามงบ และข้อตกลงที่ต้องการ โดยอาจมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม เนื่องจากอาจพบอุปสรรคที่หน้างาน โดยบริษัทรับสร้างบ้านอาจนำเสนอแนวทางแก้ไขให้เจ้าของบ้านทราบ

• หมายเหตุ หากไม่มีแบบในใจ หรือไม่อยากเสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้ สามารถขอแบบบ้านมาตรฐานกับทางสำนักงานเขตท้องถิ่นได้ ซึ่งแบบนี้สามารถนำไปยื่นขออนุญาตก่อสร้างได้เลย

5. ขออนุญาตก่อสร้าง

ก่อนทำการสร้างบ้านต้องมาขออนุญาตสร้างบ้านที่เขตหรือ อบต. ต้องติดต่อกับทางเขต หรือ อบต. โดยมีเอกสารดังนี้ สำหรับแจ้งเจ้าหน้าที่เขต และ อบต. โดยต้องมีลายเซ็นต์วิศวกร(โยธา) และ สถาปนิก

  • ค่าเซ็นต์แปลนบ้าน
  • รายการคำนวณแบบบ้าน พร้อมลายเซ็นต์ทุกหน้า
  • ถ้าขนาดบ้านเกิน 150 ตารางเมตร ต้องให้สถาปนิกเซ็นต์รับรองแบบบ้านให้
  • หนังสือรับรองวิศวกรรมควบคุม 1 ชุด พร้อมสำเนาใบ กว
  • หนังสือผู้ควบคุมงาน (แบบ น 4) 1 ชุด พร้อมสำเนาใบ กว

สำหรับเจ้าของบ้าน

  • สำเนาบัตรประชาชน (ผู้ขออนุญาติสร้างบ้าน)
  • สำเนาบัตรประชาขน (เจ้าของที่ดิน)
  • สำเนาโฉนดที่ดินพร้อมเซ็นต์รับรองทุกหน้า (เจ้าของ)
  • สำเนาทะเบียนบ้าน (ผู้ขออนุญาติ)
  • สำเนาทะเบียนบ้าน (เจ้าของที่ดิน)
  • ใบรับรองที่ดิน (ผู้ใหญ่บ้านเซ็นต์)

ใบมอบอำนาจการขออนุญาติสร้าง

  • สำนักงานเขต หรือ อบต.ตรวจสอบแบบแปลน
  • ได้รับหนังสืออนุญาตให้ก่อสร้าง โดยต้องก่อสร้างตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต กรณีที่ไม่ได้รับอนุญาต อาจต้องแก้ไขรายละเอียด และยื่นขออนุญาตอีกรอบ
  • ควรทำสำเนาใบอนุญาตก่อสร้าง โดยเก็บไว้ที่ตัวท่านเอง สถาปนิก วิศวกร และผู้รับเหมา เพื่อดำเนินการก่อสร้างบ้านต่อไป

6. เริ่มก่อสร้าง

หลังจากที่ได้ใบอนุญาตก่อสร้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มลงมือก่อสร้างได้ โดยก่อนหน้าที่จะมาถึงขั้นตอนนี้ ตามปกติแล้ว ควรมีการหาผู้รับเหมาไว้ก่อนล่วงหน้า เมื่อได้ใบอนุญาตมาก็พร้อมลงมือก่อสร้างได้เลย

โดยการเลือกหาผู้รับเหมา ควรมีการเขียนสัญญาการว่าจ้างให้ชัดเจน ระบุเรื่องการจ่ายเงินต่าง ๆ ซึ่งการหาผู้รับเหมาที่ไว้ใจได้ที่ก่อสร้างจนจบงาน ก็เป็นเรื่องยาก อันนี้อาจจะต้องหาคนที่ไว้ใจได้ หรือคนที่เคยมีผลงานมาก่อนแล้ว และได้รับการรับรองว่า ไม่เบี้ยว มิเช่นนั้นอาจสูญเงินเปล่า ซึ่งอาจจะต้องมีความรอบคอบในการจ่ายเงินค่าจ้าง ต้องไม่เขี้ยวเกินไป เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้ถูกทิ้งงานได้ และไม่หละหลวมจนเกินไป

  • ขั้นตอนที่ 1 ตอกเสาเข็มหล่อฐานราก ทำคานคอดิน และตั้งเสาชั้นล่าง
  • ขั้นตอนที่ 2 หล่อคานชั้นบน และเสาสำหรับ รับหลังคาชั้น 2
  • ขั้นตอนที่ 3 ก่ออิฐผนัง ฉาบปูน ติดตั้ง วงกบ ใส่ฝ้าเพดาน มุงหลังคา
  • ขั้นตอนที่ 4 ติดตั้งระบบท่อน้ำ ปูวัสดุพื้น ติดตั้งประตู หน้าต่าง
  • ขั้นตอนที่ 5 บุผนังกระเบื้อง ติดตั้งสุขภัณฑ์ ทาสี เดินสายไฟ ติดตั้งดวงโคม
  • ขั้นตอนที่ 6 เก็บรายละเอียดส่วนที่เหลือ

7. ขอเลขที่บ้าน น้ำ ไฟฟ้า

เมื่อบ้านใกล้สร้างเสร็จแล้ว ก็รีบดำเนินการขอมิเตอร์น้ำและมิเตอร์ไฟไว้ล่วงหน้าได้เลย การขอมิเตอร์น้ำ เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นคำร้องขอน้ำประปา ประกอบด้วย

  • สำเนาบัตรประชาชน หรือบัตรข้าราชการ ของผู้ขอใช้น้ำประปา
  • สำเนาทะเบียนบ้านที่มีชื่อผู้ขอใช้น้ำ กรณีที่ผู้ขอไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหลังที่ขอใช้น้ำประปา
  • สำเนาทะเบียนบ้านหลังที่ขอใช้น้ำประปา
  • ถ้ามอบอำนาจ ให้ทำหนังสือมอบอำนาจ โดยเซ็นต์รับรองสำเนาบัตรประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจไปด้วย

ขั้นตอนและวิธีการ

  • ผู้ขอใช้น้ำยื่นคำขอใช้น้ำพร้อมเอกสาร ณ สำนักงานประปา โดยเจ้าหน้าที่จะดำเนินการกรอกข้อมูลลงในแบบคำขอใช้น้ำ
  • สำนักงานประปาจะทำการส่งช่างไปทำการสำรวจในจุดที่ท่านขอใช้น้ำ เพื่อจัดทำแบบการติดตั้งประปา และประมาณการค่าใช้จ่ายแจ้งต่อผู้ขอใช้น้ำต่อไป

สถานที่ติดต่อขอน้ำประปา ในเขตกรุงเทพมหานครติดต่อได้ที่การประปานครหลวง ส่วนในต่างจังหวัดนั้นติดต่อได้ที่การประปาส่วนภูมิภาคการขอใช้ไฟฟ้า

เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นคำร้อง ประกอบด้วย

  • สำเนาบัตรประชาชน หรือบัตรข้าราชการ ของผู้ขอใช้ไฟฟ้า
  • สำเนาทะเบียนบ้านหลังที่ขอใช้ไฟฟ้า
  • กรณีผู้ขอใช้ไฟฟ้าเดินสายและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคารเอง ถ้ามีจำนวนดวงโคมเต้ารับ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ติดตั้งรวมกันเกินกว่า 20 จุด หรือใช้ไฟฟ้าเกินกว่า 5 กิโลวัตต์ จะต้องส่งแผนผังการเดินสายและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดมาตราส่วนไม่เกิน 1 ต่อ 100 จำนวน 2 ชุด เพื่อใช้ประกอบในการตรวจสอบแผนผังการเดินสายนี้ ผู้ขอใช้ไฟฟ้าสามารถจ้างการไฟฟ้าดำเนินการให้ก็ได้
  • กรณีมอบอำนาจ ให้ทำหนังสือมอบอำนาจโดยปิดอากรแสตมป์ 10 บาท และมีพยานลงนาม 2 คน โดยผู้รับมอบอำนาจต้องนำหลักฐานตามข้างต้นของผู้มอบอำนาจไปแสดง พร้อมนำบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ด้วย

ขั้นตอนและวิธีการ

  • ให้ยื่นคำร้องที่สำนักงานการไฟฟ้าใกล้บ้าน เมื่อสำนักงานการไฟฟ้าได้รับคำร้องและตรวจสอบหลักฐานดังกล่าวข้างต้นเรียบร้อยแล้ว ทางการไฟฟ้าจะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบหรือดำเนินการเดินสายภายในอาคาร
  • เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วพบว่าการเดินสายไฟหรือติดตั้งอุปกรณ์ไม่ถูกต้อง จะให้คำแนะนำเพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง เมื่อแก้ไขจนทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว การไฟฟ้าจะแจ้งให้ผู้ขอใช้ไฟทราบเพื่อชำระค่าธรรมเนียมต่อไป
  • ถ้าผู้ขอใช้ไฟฟ้ายังไม่ได้ดำเนินการติดตั้งสายไฟภายในอาคาร ผู้ขอใช้ไฟฟ้าสามารถจ้างการไฟฟ้าให้ดำเนินการติดตั้งสายไฟให้ได้ เมื่อติดตั้งเสร็จเรียบร้อยก่อน ให้แจ้งการไฟฟ้าเพื่อให้มาตรวจสอบอีกครั้งเมื่อผู้ขอใช้ไฟฟ้าชำระเงินคาธรรมเนียมแล้วให้เก็บใบเสร็จรับเงินเพื่อไว้เป็นหลักฐานต่อไป
  • ค่าขอใช้ไฟฟ้าประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมต่อไฟฟ้า ค่าตรวจสอบการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคาร ค่าส่วนเฉลี่ยการใช้พลังงานไฟฟ้า เงินประกันการใช้ไฟฟ้า และค่าอุปกรณ์ไฟฟ้าหลังมิเตอร์

สถานที่ติดต่อขอใช้ไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครติดต่อได้ที่การไฟฟ้านครหลวง ในต่างจังหวัดติดต่อได้ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

8. เจ้าของบ้านพร้อมวิศวกรเข้ามาตรวจสอบบ้านเป็นครั้งสุดท้าย

โดยควรตรวจสอบโครงสร้างของบ้าน ทั้งภายในและภายนอกทุกจุด โดยเน้นตรงงานใต้หลังคา งานระบบไฟฟ้า งานตรวจสถาปัตย์ภายใน-ภายนอก และงานสุขาภิบาล เมื่อพบข้อผิดพลาด แจ้งให้บริษัทรับเหมาทราบ เพื่อให้รีบดำเนินแก้ไขให้เรียบร้อย ก่อนที่ผู้ซื้อบ้านจะเซ็นโอนกรรมสิทธิ์

นี่คือขั้นตอนของการสร้างบ้าน เพื่ออยู่อาศัยเองโดยภาพรวม ซึ่งในความเป็นจริง มีรายละเอียดในแต่ละส่วนอีกมากที่ผู้สร้างบ้านควรเรียนรู้ ตั้งแต่การวางตำแหน่งตัวบ้าน ทิศของบ้าน การรับลม การรับแดด ไปจนถึงเรื่องการเลือกวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะใช้ภายในบ้านที่เราอาจจะต้องลงมือเองในทุกขั้นตอน แม้ว่าจะเหนื่อยสักหน่อย แต่เชื่อว่าเราจะได้บ้านในแบบที่เราต้องการ

เราจะช่วยดูแล ด้วยคุณภาพและบริการ อย่าลังเลที่จะติดต่อเรา